จิตต์สิรี ทองน้อย

Read an English version of the story here.

กาญจนบุรี ประเทศไทย — ในคืนฤดูหนาวของเดือน ม.ค. ปีนี้ เสือหนุ่มที่รู้จักกันในชื่อ “SLT002” ปรากฎตัวในกล้องวงจรปิดซึ่งติดตั้งตรงบริเวณสันเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี  เสือตัวนี้เดินข้ามรั้วกั้นสันเขื่อน เดินลอยชายสำรวจถนนและลานจอดรถราดยางมะตอย แสงไฟสาดลงบนตัวเสือ เผยร่างกายที่แข็งแรงกำยำ 

“ดูแล้วเป็นเสือประเภท young and foolish [หรือเสือหนุ่มที่ไม่ประสีประสาต่อโลก]” รัฐพันธ์ พัฒนรังสรรรค์ ผู้จัดการแผนงานอนุรักษ์ประจำองค์กรแพนเทอรากล่าว “เป็นเสือที่ยังไม่กลัวอะไร เพราะไม่เคยถูกคุกคามมาก่อน”

การปรากฏตัวของเสือ SLT002 เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศไทยในตอนนั้น ทางการออกคำเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขื่อนศรีนครินทร์ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีนักเดินทางทั้งไทยและต่างชาติแวะเวียนมาชมสถานที่สำคัญอย่างสะพานข้ามแม่น้ำแคว

เจ้าหน้าที่ประจำแพนเทอราตรวจสอบลักษณะลายบนข้างลำตัวของมัน พบว่าเสือตัวนี้เคยปรากฏในกล้องจับภาพที่ติดตั้งไว้ในป่ามาก่อน ซึ่งดป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์เสือภายใต้วามร่วมมือระหว่างแพนเทอรา และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

แม้ SLT002 จะทำให้ผู้คนตื่นกลัว แต่ก็เป็นสัญญาณแห่งความหวังในงานอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทยท่ามกลางปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าภาคตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งพักพิงแหล่งสุดท้ายของเสือโคร่ง

Thailand tiger
กล้องวงจรปิดจับภาพเสือหนุ่มนามว่า SLT002 ขณะกำลังเดินสำรวจถนนบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 มกราคา 2566 / ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พื้นที่ไข่แดงอนุรักษ์เสือ 

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือIUCN) รายงานว่า ในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกลดลงมากถึง 93% จากประมาณ100,000 ตัว เหลือ 3,200 ตัวในปี 2558 

อย่างไรก็ตาม จำนวนเสือโคร่งกลับเพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ตัวในปี 2565 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกประชากรเสือเพิ่มขึ้น

รัฐพันธ์กล่าวว่าในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างลาวและกัมพูชา ไม่มีรายงานการพบเสือโคร่งตามธรรมชาติอีกแล้ว ขณะที่ปัญหาการสู้รบในพม่าทำให้การศึกษาและเก็บข้อมูลเสือโคร่งเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนมาเลเซียยังมีปัญหาการดักสัตว์ด้วยลวด ส่งผลให้จำนวนสัตว์ป่าและเสือโคร่งลดลงจนเกือบสูญหาย 

แต่สถานการณ์ในบางประเทศกลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในอินเดีย เนปาล และไทย ซึ่งพบจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

“ประเทศเหล่านี้คือ ‘พื้นที่ไข่แดง’ ของการอนุรักษ์เสือและสัตว์ป่า” รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการอาวุโส โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature หรือ WWF) ประจำประเทศไทยกล่าว

การประมาณการของกรมอุทยานฯพบว่า เสือโคร่งในผืนป่าไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 130-160 ตัวในปี 2563 เป็น 148-189 ในปี 2565 สืบเนื่องจากการทำแผนงานเสือโคร่งตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยไทยตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี  2577

กรมอุทยานฯ ร่วมกับองค์กรด้านการอนุรักษ์ เช่น แพนเทอรา และ WWF ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งมากกว่า 1,200 แห่งทั่วผืนป่าไทย ทั้งยังจัดอบรมและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้ และลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งแก่ชุมชนที่ตั้งใกล้เคียงผืนป่า

รุ้งนภาเล่าว่า WWF และเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันติดตั้งกล้องจับภาพสัตว์ป่ากว่า 190 แห่งในผืนป่าตะวันตกไทยครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง พบเสือโคร่งมากถึง 25 ตัว ในจำนวนนี้มี 5 ตัวที่เป็นเสือเกิดใหม่อายุไม่เกิน 2 ปี

ขณะที่องค์กรแพนเทอราวางกล้องจับภาพสัตว์ป่ามากกว่า 400 จุด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของผืนป่าตะวันตกในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เชื่อมต่อกับผืนป่าในพม่า  โดยหวังว่าจะเก็บข้อมูลเสือโคร่งเพื่อวางแผนการอนุรักษ์ในระยะยาว 

ในปี 2564 กล้องสามารถจับภาพแม่เสือ พร้อมลูกเดินตามหลัง ทั้งยังมีคลิปวีดีโอสั้นที่จับภาพเสืออีกตัวเดินย่างช้าๆ เข้ามานั่งดื่มน้ำจากแอ่งน้ำที่เกิดจากการขังตัวของน้ำฝน 

tiger Thailand
เมื่อเดือนพฤษจิกายน 2564 กล้องจับภาพแม่เสือพร้อมลูกเสือเดินตามหลังในตอนบนของผืนป่าตะวันตก ใกล้ชายแดนไทย-พม่า การพบเสือแม่ลูกนี้สร้างความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือของไทย/ ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ WWF ประเทศไทย

ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

การติดตั้งกล้องของแพนเทอราครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มนักวิจัยพร้อมเจ้าหน้าที่รัฐ เดินเท้าเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเพื่อตั้งกล้อง 

โดยนักวิจัยใช้ลวดมัดกล้องไว้กับลำต้นไม้ เหนือจากพื้นดินประมาณ 45-60 เซนติเมตร เป็นความสูงพอดีกับลำตัวเสือ มีกล้องสองตัวติดตั้งไว้ตรงกันข้ามกัน เพื่อถ่ายรูปลายบนลำตัวเสือโคร่งได้ทั้งสองด้าน ใช้ระบุอัตลักษณ์ของสัตว์แต่ละตัว 

วราพล พนมวงศ์เกษม นักวิจัยจากแพนเทอรากล่าวว่า กล้องแต่ละตัวมีอายุการใช้งานหลายเดือน นอกเสียจากสัตว์ป่าจะดึงกล้องออกมาจากต้นไม้ สำหรับเขา เสือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ลึกลับ น่าดึงดูด เพราะจนวันนี้มนุษย์ยังไม่สามารถบันทึกวงจรชีวิตเสือได้ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

tiger camera
เจ้าหน้าที่จากองค์กรแพนเทอรา (Panthera) กำลังติดตั้งกล้องจับภาพสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี / ภาพ: Panthera

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเหมือนอุทยานทั่วไป แต่ ไพฑูรย์ อินทรบุตรหัวหน้าประจำเขต มักพบเจอพรานหรือกลุ่มลักลอบตัดต้นไม้เข้ามาเสมอ 

นั่นทำให้เจ้าหน้าที่ต้องออกเดินลาดตระเวนเป็นประจำ โดยอาศัยสายข่าวที่ทำหน้าที่จับตาดูการเข้าพื้นที่ของพราน และมีกลุ่มเจ้าหน้าแอบซ่อนตัวอยู่ในป่า คอยจับกุมพรานที่ลักลอบเข้ามาแล้วนำตัวส่งให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดี

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือ smart patrol เป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนงานอนุรักษ์เสือโคร่งของไทยโดยใช้เทคโนโลยีเช่นจีพีเอสในชี้เป้าจุดเสี่ยง มีองค์กรด้านการอนุรักษ์สนับสนุนอุปกรณ์และการอบรมให้เจ้าหน้าที่ 

ไพฑูรย์นำกลุ่มเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอยู่ราว 160 คน ซึ่งสลับกันลาดตระเวนอย่างน้อยเดือนละ 14 วัน มีเป้าหมายเดินลาดตระเวนให้ได้อย่างน้อย 70% ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระกว่า 500,000 ไร่ในแต่ละปี 

เจ้าหน้าที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 9,000 ถึง 15,000 บาท อยู่กินในสถานีของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ซึ่งกระจายอยู่ราว10 สถานีทั่วเขต

“ถ้าไม่รักงานนี้ ก็อยู่ไม่ได้ครับ” ไพฑูรย์กล่าว

การเผชิญหน้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แม้ว่าจำนวนเสือเพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่นั่นก็หมายถึงแนวโน้มที่เสือจะเผชิญหน้ากับมนุษย์มากขึ้น ในบริบทที่พื้นที่ป่าร่อยหรอลงจากอดีต

ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร  ให้ความเห็นว่า การปรากฏตัวของเสือในพื้นที่ใกล้เขตชุมชนแบบกรณีของเสือหนุ่ม SLT002 น่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะเสือเองก็ต้องขยายพื้นที่ล่าเหยื่อ

“เมื่อเสือแยกจากแม่ต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ บางครั้งเป็นพื้นที่ติดกับชาวบ้าน และอีกกรณีคือ เสือแก่ซึ่งอยู่ที่เดิมไม่ได้ เพราะล่าไม่เก่งแล้ว และมีเสือหนุ่มกว่าเข้ามา ก็จะเดินหาพื้นที่ที่ล่าเหยื่อไกลขึ้น” ภาณุเดชกล่าว

ในเดือนมกราคม 2565  ชาวบ้าน 5 คนถูกจับกุมข้อหาฆ่าและล่าเสือ 2 ตัว ในเขตอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยให้เหตุผลว่าเสือทั้งสองมักมาลักกินวัวและควายที่ตนเลี้ยงไว้ จึงจำเป็นต้องยิงทิ้ง พร้อมถลกหนังและชำแหละเสือตัวดังกล่าว

tiger Panthera
เจ้าหน้าที่จากองค์กรแพนเทอรา (Panthera) พร้อมเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี เดินเท้าสู่เขตพื้นที่ป่า เพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่ง / ภาพ: Panthera

ไมเคิล รอย ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย  ให้ความเห็นว่า การคงความอุดมสมบูรณ์ของป่า จะสามารถช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างเสือกับมนุษย์ได้ 

ปัจจุบัน ป่าที่มีจำนวนเสืออยู่หนาแน่นที่สุดของไทย คือ ป่าทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง อยู่ตรงกลางผืนป่าตะวันตก สะท้อนว่าบริเวณดังกล่าวมีความสมดุลระหว่างจำนวนผู้ล่าและเหยื่อ

แต่ในพื้นที่ป่าอื่นๆ รอยกล่าวว่าการล่าสัตว์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประชากรเหยื่อลดลง และไม่สามารถเพิ่มจำนวนเองได้ตามธรรมชาติ ดังนั้น องค์กรด้านการอนุรักษ์ต่างๆจึงต้องเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อ เช่น กวางป่า เพื่อนำไปปล่อยในป่าควบคู่กับการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่ง

รัฐพันธ์ ผู้จัดการแผนงานอนุรักษ์ประจำองค์กรแพนเทอรา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เสือหนึ่งตัวอาจต้องจับกวางกินอาทิตย์ละหนึ่งตัว ดังนั้นจึงต้องมีจำนวนกวางมากพอตลอดปีเพื่อให้เป็นเหยื่อ 

เสือตัวเมียมักล่าในพื้นที่ราว 60 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวผู้ใช้พื้นที่ล่าราว 200-300 ตารางกิโลเมตร ดังนั้นความอุดมสมบูรณ์ของป่าจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสืออยู่รอด


บทความชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Internews’ Earth Journalism Network

About the writer
Avatar photo

Jitsiree Thongnoi

Jitsiree Thongnoi is a journalist based in Bangkok, Thailand.

There are no comments yet. Leave a comment!

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.