“ฤดูหมอกควัน” กลับมาอีกครั้งในปีนี้ พร้อมปัญหาไฟป่าและการเผาไร่การเกษตรที่มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย. ของทุกปี
มลพิษทางอากาศเป็นตัวการของปัญหาสุขภาพในประชากรหลายล้านคน เพราะมันนำพา PM2.5 หรืออนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2.5 ไมครอน ซึ่งสามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ หัวใจ หลอดเลือด และเส้นเลือดในสมองตีบ
องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า PM2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประชากร 6.7 ล้านคนในปี 2562 ขณะที่รายงานของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศมากถึง 1.73 ล้านคนที่ในระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. 2566
นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว มลพิษอากาศยังเผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผู้มีปัญหาทางสถานะและสิทธิเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเข้าถึงทรัพยากรในการป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศอย่างจำกัดจำเขี่ย
ประเด็นความเหลื่อมล้ำนี้สะท้อนผ่านสารคดีสั้นเรื่อง “เมื่ออากาศไม่สะอาด หรือต้องซื้ออากาศเพื่อหายใจ” ผลิตโดยนักข่าวพลเมือง สุชาติ อิ่งต๊ะ และ ตี๋ นาหยอด เล่าเรื่องผลกระทบของมลพิษอากาศต่อผู้มีปัญหาทางสถานะและสิทธิสามรายในจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อพวกเขาไร้สถานะ จึงมีโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจน้อย ทำให้พวกเขาต้องหันไปพึ่งพางานนอกระบบที่สัมผัสกับหมอกควันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังมีทรัพยากรจำกัดในการหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่น หรือปรับปรุงบ้านเรือนให้มิดชิด สถานการณ์ยังซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อปัญหาทางสถานะทำให้การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นไปได้ยาก
สารคดีชิ้นนี้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่ผู้บริหารของประเทศไทยและเพื่อนบ้านต้องร่วมมือกันกำจัดต้นเหตุของหมอกควัน และให้ความช่วยเหลือบุคคลไร้สถานะโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้พวกเขารับมือกับฤดูหมอกควันในแต่ละปี ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจางหายไป
รับชมสารคดีได้ที่นี่:
สารดคีชิ้นนี้ผลิตด้วยการสนับสนุนจากโครงการ Our Mekong, Our Say ภายใต้ Internews’ Earth Journalism Network